วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

Post Modern

  Postmodern  แนวคิดหลังความทันสมัย

        โพสต์ โมเดิร์น ก็คือการตั้งคำถามกับโมเดิร์น การที่มีคนใช้คำว่า โพสต์โมเดิร์นคุณประโยชน์ที่สำคัญก็คือ มันทำให้เราสามารถหวนกลับไปมองสังคมโมเดิร์นหรือพฤติกรรมที่ผ่านมาของมนุษย์ หรือความคิดความเชื่อของเราอย่างเป็นอิสระมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่บอกว่า "โพสต์" โมเดิร์น เราก็จะยังจะอยู่ในกรอบของโมเดิร์น หรือยังให้มันครอบเราอยู่ ให้เรารู้สึกว่ายังจะต้องก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ความเจริญ ยึดถือลัทธิความก้าวหน้า ซึ่งเป็นมิติที่ควบคู่กับ civilizing mission ของตะวันตก การบอกว่าโลกเป็น โพสต์ โมเดิร์น หรือเป็นโลกหลังสมัยใหม่ ในเชิงการเมืองนอกจากจะทำให้มนุษย์สามารถมองโลกสมัยใหม่อย่างอิสระ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์มันได้ชัดเจนมากขึ้นมองมันถนัดขึ้น ในทางความรู้ก็ทำให้หลุดพ้นจากกรอบ สมมติฐานแบบโมเดิร์น อย่างเช่น ปรัชญาความเป็นสากล ปรัชญาความก้าวหน้า หรือปรัชญาประเภทที่ต้องมีแก่นแท้ มั่นคง ถาวร เป็นอมตะ ซึ่งเอามาจากคริสต์ศาสนา เรื่องวิญญาณ เรื่องพระเจ้า หรือจากกรีกที่เรียกว่าภาวะอุดมคติ เป็นต้น เพราะฉะนั้นตัวปรัชญาโพสต์ โมเดิร์น จึงเป็นตัวปรัชญาที่แย้งกับความเป็นสากล หรือความเป็นแก่นแท้ที่ขัดแย้งไม่ได้ ล้มล้างไม่ได้ ถกเถียงไม่ได้ 

ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง กล่าวโดยนัยนี้ ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นยังมีระดับจิตต่ำกว่าปรัชญาของพุทธะ ที่มีประสบการณ์โดยตรงในการเข้าถึง "ความจริงสูงสุด" พวกโพสต์โมเดิร์นเห็นว่า มนุษย์ต้องมองต้องคิดผ่านแว่นของภาษา จึงมองว่า ความจริงเป็นแค่สิ่งที่เราสร้างขึ้นโดยระบบของภาษา 

ในเมื่อพวกโพสต์โมเดิร์นมองว่า ความจริงเป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้น โดยระบบภาษา โดยสำนวนโวหาร โดยการจูงใจ โดยการบิดเบือน โดยการหลอกลวงซ่อนเร้นภายใต้ความขลังของทฤษฎีหรือวาทกรรมแบบต่างๆ หรือภายใต้ระบบปรัชญาที่ซับซ้อนหรือด้วยภาพลักษณ์ที่ง่ายๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นพวกโพสต์โมเดิร์นจึงนิยมมองโลกข้างนอกทุกๆ อย่างเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่เราจะใส่ความคิด ความเชื่อของเราลงไปยังไงก็ได้ คือเติมตัวความหมาย (signifier) ลงไปได้ เพราะฉะนั้นในสายตาของพวกโพสต์โมเดิร์น โลกทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของมนุษย์จึงเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่มีการช่วงชิงกันเติมความหมาย ความคิดเห็นลงไป การเมืองในยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างในยุคปัจจุบัน จึงเป็นการเมืองของการช่วงชิงพื้นที่ด้านต่างๆ 

ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์น ไม่เชื่อว่ามีความจริงเพียงหนึ่งเดียวอยู่แล้ว แต่เห็นว่า "ความจริง" เป็นสิ่งที่มองได้หลายมุมมอง และควรผสมผสานมุมมองที่หลากหลายต่างๆ เข้าด้วยกัน

ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์น ปฏิเสธอำนาจของกรอบ ระเบียบ โครงสร้าง รูปแบบจารีตเดิม และมุ่งแสวงหาการคิดนอกกรอบและแหวกแนวอยู่ตลอด


นักคิดโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อในโลกความจริงที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกของภาษา ซึ่งถ้าหากว่าสิ่งนอกเหนือต่าง ๆ มีอยู่จริงเขาก็ไม่สนใจที่จะต้องไปถกเถียงกัน เพราะว่าถกเถียงไม่ก็ไม่มีข้อสรุปว่าสิ่งไหนถูกผิด เนื่องจากทุกสิ่งถูกการมองโดยโลกของภาษา ซึ่งมีลูกเล่นแพรวพราวทั้งตัวภาษาเองและตัวผู้ใช้ภาษา พวกเขาจึงสนใจที่จะศึกษาเรื่องของภาษา วาทกรรม ตัวบท ซึ่งมีนักคิดคนสำคัญคือ

Jacques Derrida เกิดในอัลจีเรียเขาเสนอวิธีการ deconstruct คือการแสดงให้เห็นว่าเราสามรถถอดรื้อความเห็น ของทฤษฎีหรือวาทกรมใด ๆ ก็ได้ เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงจุดหละหลวมของมัน ซึ่งภาษานั้นก็สามารถที่จะสร้างความหมายลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ เขาจริงถือเป็นภารกิจของเขที่จะถอดรื้อระบบความคิดที่อ้างตัวเองเป็นตัวแทนของความจริง

Michel Foucault เขามุ่งถอดรื้อความคิด ทฤษฎี วาทกรรมที่อ้างตนเองว่าเป็นความรู้ที่เป็นกลางเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เช่น ความรู้ทางการแพทย์ ทางสังคม ทางจิตวิทยา ฯลฯ เขาถอดรื้อให้เห็นว่าความรู้จำนวนมาก รวมทั้งสถาบันต่างๆ ได้ถูสร้างขึ้นมาอย่างมีเงื่อนไขเพื่อปกปิดอำพรางบางอย่าง โดยเฉพาะประโยชน์ทางอำนาจ เพื่อปิดกั้นความรู้และความจริงอื่น ๆ อันเป็นการกดดัน บีบบังคับ บิดเบือน ละเลย หลงลืม อำนาจ หรือการดำรงอยู่ของส่วนอื่น ๆ เช่น ละเลยความสำคัญของจิตใต้สำนึกของร่างกายของคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เช่น เกย์ เลสเบี้ยน เป็นต้น

Jacques Lacan (ค.ศ. 1901-1981) งานของเขาชี้ให้เห็นว่าภาษากำหนดรูปร่างความเป็นไปของจิตใต้สำนึก อารมณ์ปรารถนาของเราตั้งแต่ยังเป็นทารก โลกของภาษาคือโลกของสัญลักษณ์ อำนาจ การครอบงำตั้งแต่วัยทารกจึงทำให้อัต ลักษณ์ของเราแยกจากภาษาไม่ออก


จุดเด่นของแนวคิดหลังสมัยใหม่
Lyotard (เลียวทาร์) เห็นว่า ลักษณะเด่นของแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม คือ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับความชอบธรรมของความรู้ในยุคหลัง-อุตสาหกรรม เงื่อนไขของความเป็นหลัง-สมัยใหม่ คือ การล่มสลายของเรื่องเล่าขนาดใหญ่หรืออภิมหาเรื่องเล่า นั่นเอง แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม จะช่วยให้เรามองเห็น “ความแตกต่าง” ท่ามกลางภาพกว้างของกระแสหลัก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างละทิ้งความซ้ำซากแล้วหลังสมัยใหม่นิยม มีพลังสูงพอสมควรในการเขย่ารากฐานและระบบความคิดที่แข็งทื่อ อย่างเช่นปรัชญา วัตถุนิยม จนเกิดการพังทลายและมีความว่างเกิดขึ้นนำไปสู่การสังเคราะห์ใหม่ระหว่างสสาร/ความคิดและที่สำคัญคือ หลังสมัยใหม่สอนให้เรารู้จักคิดแบบองค์รวม ซึ่งทำให้การศึกษาทางสังคมศาสตร์มีความถ่อมตัวมากขึ้น ในการอ้างถึงความรู้ที่ศึกษาวิจัยมา อย่างน้อยก็ลดระดับการอธิบายการอ้างถึงความสมบูรณ์ของความรู้ครอบคลุมไปหมด (Overgeneralization)   จุดเด่นของหลังสมัยใหม่ที่กล่าวมาย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า หลังสมัยใหม่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและการท้าทายที่ทำให้การอ้างถึงความรู้ที่มีอยู่ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ไม่เป็นแบบเกินเลยและถ่อมตัว/ถ่อมตนมากขึ้น โดยถือว่าความรู้ทุกอย่างล้วนเป็นวาทกรรมทั้งสิ้น

จุดด้อยของแนวคิดหลังสมัยใหม่
อย่างไรก็ตามแม้ว่า หลังสมัยใหม่ไม่ได้เสนออะไรที่เด่นชัดมากนัก เพราะตัวหลังสมัยใหม่เองเป็นเพียง "กระแสความคิด" มากกว่าจะเป็น "สำนักคิด" ที่มีระเบียบวิธี, ปรัชญา และเป้าหมายในการศึกษาที่ชัดเจนตายตัว แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าหลังสมัยใหม่จะไม่มีอะไรเลย และไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารอยู่ข้างใน สำหรับผู้เขียนแล้ว นี้ก็เป็นการกล่าวหากันเลื่อนลอยจนเกินไป

หลังสมัยใหม่ในบริบทสังคมไทย
หลังสมัยใหม่เป็นคำที่โด่งดังและแพร่หลายมากที่สุดในวงการปัญญาชนไทยในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีใครที่ไม่ได้อิทธิพลจากแนวคิดนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีใครที่จะปิดหูปิดตาและทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อการมีอยู่ของคำ ๆ นี้ไปได้  หลังสมัยใหม่เป็นคำใหม่ในสังคมไทย แต่ถึง พ.ศ.นี้ หลังสมัยใหม่ก็ไม่ได้เป็นศัพท์แสงที่จำกัดอยู่แต่ในวงการปัญญาชน และนักวิชาชีพตามมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว อิทธิพลของหลังสมัยใหม่ต่อวงการศิลปะ-ภาพยนตร์-สถาปัตยกรรม-วรรณกรรม ทำให้แม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดก็เผชิญกับการหลอกหลอนของคำนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปฏิกิริยาที่ปัญญาชนไทยมีต่อหลังสมัยใหม่นั้นมีหลายทาง คือ ประการแรกสุดการคลั่งไคล้อย่างไม่ลืมหูลืมตาในอะไรก็ได้ที่มีคำว่า "หลังสมัยใหม่" ปะหน้า ราวกับว่าภูมิปัญญามนุษยชาตินั้นได้มาถึงบทสุดท้ายพร้อมๆ กับการปรากฎกายของหลังสมัยใหม่ขึ้นมาอย่างง่ายๆ ว่าหลังสมัยใหม่ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องเลอะเตอะเหลวไหล ไม่สนใจสังคม หรือกระทั่งเป็นของเล่นใหม่ทางภูมิปัญญา ประการที่สองฝ่ายที่พยายามอย่างเหลือเกินที่จะอธิบายหลังสมัยใหม่ให้มีลักษณะ "เพื่อสังคม" แล้วใช้วิธีคิดแบบนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างปฏิบัติการทางวิชาการและการเมืองบางอย่างขึ้นมา จะเห็นได้ว่าปฏิกิริยาแบบแรกกับแบบที่สองนั้นขัดแย้งกันโดยตรง และเพราะเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่วิวาทะและการโต้เถียงเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ที่ชัดเจนที่สุดจะมาจากคนสองกลุ่มนี้    อย่างไรก็ดี การถกเถียงและโต้แย้งกันผ่านข้อเขียนเชิงวิวาทะอย่างเปิดเผยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในประเพณีทางภูมิปัญญาแบบไทยๆ ของปัญญาชนไทยมานานแล้ว ความขัดแย้งระหว่างความคิดทั้งสองแบบจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมองเห็นได้ง่ายๆ แต่ใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญา ก็คงจะเล็งเห็นถึงความไม่ลงรอยข้อนี้ได้ไม่ยาก ถึงแม้จะไม่เคยมีวิวาทะและการเผชิญหน้ากันอย่างตรงไปตรงมาเกิดขึ้นจริงๆ เลยก็ตาม ความเข้าใจนี้เป็นสาเหตุให้ปัญญาชนไทยบางรายโจมตีหลังสมัยใหม่อย่างง่ายๆ ว่า เพราะสังคมไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ "หลังสมัยใหม่" จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งที่หลังสมัยใหม่หมายความถึงปฏิกิริยาที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีต่อความคิด, ความเชื่อ, ความรู้, แบบแผนการปฏิบัติ, สถาบัน และอะไรต่อมิอะไรที่เป็นทั้งผลผลิตและเป็นไวพจน์ของภาวะสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้, ความมีเหตุมีผล, ประชาธิปไตย, สังคมสมัยใหม่, โรงพยาบาล, สังคมข้อมูลข่าวสาร, ความเป็นตัวตน, เทคโนโลยี, การปลดปล่อย ฯลฯ ซึ่งในบางกรณีก็กินความไปถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล, ประชาธิปไตย, เสรีภาพสมบูรณ์ ฯลฯ ไปเลยด้วยซ้ำ



ความคิดสมัยใหม่ (Modernism)

              เราต้องยอมรับว่า สังคมนี้เป็นสังคมสมัยใหม่ที่เจริญทางวัตถุ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันมีทั้งผลดีและเสีย สร้างทั้งความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมเสีย สังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้ามากเท่าไร  มนุษย์ยิ่งจำเป็นต้องการรู้ตนเองและสังคมมากเท่านั้น นักคิดทางสังคมทั้งหลายจึงพยายามศึกษาเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในอดีตกับปัจจุบัน เพื่อความรู้เข้าใจความเป็นมนุษย์กับสังคม เห็นความแตกต่างของสิ่งทั้งหลายอย่างชัดเจนที่เป็นไปตามกาลเวลา ตามหลักสัจจธรรมที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจังไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในด้านความคิด ความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติ วิทยาการ  สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีทั้งหลาย เกิดการยอมรับการวิวัฒนาการสังคมกันอย่างแพร่หลาย ยอมรับสิ่งใหม่มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่แทนของเดิม ทำให้ของเดิมที่มีอยู่แล้วกลับถูกมองเห็นว่าเก่าโบราณล้าหลังไม่ทันสมัยไม่ยอมรับกันอีกต่อไป อะไรคือความจริง อะไรคือใหม่ อะไรคือเก่า อะไรคือทันสมัย อะไรคือล้าหลัง
         ความคิดสมัยใหม่ (Modernism, Modernity or Modernization) ตาม Habermas (1987) และ Barry Smart กล่าวเอาไว้ว่า เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 มาจากภาษาละตินว่า “modernus = modern” เป็นการพยายามทำให้เกิดความแตกต่างกันใหม่ในชาวคริสต์ จากการนับถือศรัทธาพระเจ้าไปสู่สิ่งอื่น แล้วต่อมาไม่นาน ก็มีการพยายามทำให้เกิดความแตกต่างกันใหม่อีกในชาวคริสต์ จากการนับถือศรัทธาพระเจ้าไปแสวงหาความรู้จริงสิ่งสากล พยายามรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายในสากลโลกตามความเป็นจริง รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายด้วยจิตหรือปัญญา เพราะอิทธิพลแนวความความคิดของคานต์ (Kant’s conception of a universal history) เป็นกระบวนการความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรมจากเก่าไปสู่ใหม่ (Turner, 1991: 3) เป็นการแสวงหาความรู้จริงของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายตามการเปลี่ยนแปลงเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของโลกทางสังคม เพราะความเป็นมาของสังคมนี้เชื่อศรัทธาในพระเจ้าเป็นผู้สร้างกำหนดบันดาล ไม่เชื่อมนุษย์และธรรมชาติคือผู้สร้างกำหนดแสดง
              แนวคิดใหม่ทันสมัย นักปราชญ์หรือนักคิดทางสังคมบางคนกล่าวบอกว่า ควรนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 เพราะเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) แต่นักสังคมวิทยาส่วนใหญ่เห็นว่า แนวคิดใหม่ทันสมัย (Modernism) เป็นยุคประวัติศาสตร์ของสังคมยุโรปตะวันตก ที่เกิดการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เป็นยุคที่สนใจศึกษาค้นคว้าปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ (Scientism) มาช่วยแก้ปัญหาสังคมทั้งหลายที่เกิดขึ้น แล้วส่งผลมีอิทธิพลต่อการศึกษาสังคมวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ของคองต์ในเวลาต่อมา (Comte’s positivism) 
              ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงถือได้ว่าเป็นยุคความคิดใหม่ทันสมัย  (Modernism) อันหมายถึงยุคสมัยให้ความสนใจในเรื่องศิลปะ วรรณคดี วิทยาการ สถาบัน  เหตุผล  การศึกษาเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์  รูปแบบของชีวิต ความจริงของชีวิตบนฐานของความเจริญเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กล่าวคือเป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญทางวัตถุ ความมั่นคงทางสังคม และความรู้เข้าใจตนเอง (Material progress, social stability and self-realization) ในยุโรปตะวันตก มีอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส  อิตาลี เป็นต้น แม้มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดสมัยใหม่ ปัจจัยสำคัญเหล่านี้ คือ ความจริง (Truth) เหตุผล (Rationality) วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) ผลของอุตสาหกรรม (Emergence of capitalism) การแผ่อำนาจทางตะวันตก (Western imperialism) การแพร่กระจายความรู้ และอำนาจทางการเมือง (Spread of literature and political power) การขับเคลื่อนทางสังคม (Social mobility)    เป็นสาเหตุสำคัญสนับสนุนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมโลก ที่เรียกกันว่า “สมัยใหม่ความทันสมัย (Modernism)” เพราะผลของความเจริญทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนทางสังคม ทำให้มนุษย์ต้องการรู้เข้าใจตนเองและสังคมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ทำให้ต้องมาคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อความถูกต้องดีงามแบบสากล แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโลกร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น